Thursday, September 4, 2008

ประเภทของระบบปรับอากาศ ?

ข้อแนะนำต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่กำลังตัดสินใจซื้อเครื่องปรับอากาศได้ดีขึ้น

1. ควรเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่เชื่อถือได้ เพราะเครื่องปรับอากาศโนเนมส่วนใหญ่จะมีกำลังความเย็น ( BTU ) น้อยกว่าที่แสดงไว้บนฉลาก หรือที่ภาษาช่างแอร์เรียกว่าไม่เต็มบีทียู เครื่องปรับอากาศจากผู้ผลิตโนเนมส่นใหญ่มีกำลังความเย็นเพียง 70 - 80 % ของที่โฆษณาไว้ นอกจากจะมีกำลังความเย็นไม่เต็มบีทียูแล้ว แอร์โนเนมยังมีเสียงดังแล้วยังเสียเร็วด้วย

2. ควรเลือกใช้เครื่องปรับอากาศ ที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 หรือเบอร์ 4 และได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เพราะได้รับการทดสอบความสามารถในการทำความเย็นแล้วซึ่งทำให้ท่านแน่ใจได้ว่าจะได้เครื่องปรับอากาศที่ประหยัดไฟฟ้าและมีประสิทธิภาพเต็มบีทียู นอกจากนี้ควรพิจารณาประกอบกับผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือด้วยเนื่องจากว่าอาจจะมีผู้ผลิตบางรายปลอมฉลากเบอร์ 5 ด้วย

3. เลือกใช้เครื่องปรับอากาศของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายที่มีบริการหลังการขายที่ดี ข้อนี้เป็นข้อที่มีความสำคัญมากและผู้ให้บริการนั้นจะต้องมีความชำนาญและได้มาตรฐาน

4. มีมาตรฐานรับรองเช่น มอก. CE JIS ISO เป็นต้น

5. มีมาตรฐานการให้บริการหลังการขายที่ดี

6. การเลือกเครื่องต้องเหมาะกับห้องปรับอากาศ เนื่องจากการใช้งานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 8 ปี และอากาศจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี

ส่วนประกอบของระบบปรับอากาศ ?

ก่อนที่จะเริ่มทำความรู้จักประเภทของเครื่องปรับอากาศ ท่านควรทราบก่อนว่าเครื่องปรับอากาศ 1 ชุดนั้นประกอบด้วย อะไรบ้าง ซึ่งก็คือ

1) แฟนคอยล์ ยูนิต (Fan coil unit) หรือที่เรียกกันว่า “คอยล์เย็น” หรือ “Indoor unit” ทำหน้าที่ดูดซับความร้อนภายในห้อง ซึ่งภายในเครื่องประกอบด้วย แผงคอยล์เย็น และชุดมอเตอร์พัดลม

2) คอนเดนซิ่ง ยูนิต (Condensing unit) หรือที่เรียกกันว่า “คอยล์ร้อน” หรือ “Outdoor unit” ทำหน้าที่ระบายความร้อน ซึ่งภายในเครื่องประกอบด้วย คอมเพรสเซอร์ แผงคอยล์ร้อน และชุดมอเตอร์พัดลม

ประเภท (Type) ของเครื่องปรับอากาศที่ใช้กันทั่วไปมีกี่ประเภท ?

เครื่องปรับอากาศทั่วไปที่ใช้ตามบ้านพักอาศัย และอาคารสำนักงานขนาดเล็ก ซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดแบ่งได้เป็น 6 ประเภทใหญ่ๆดังนี้
1) แบบติดผนัง ( Wall type)
2) แบบตั้ง/แขวน ( Ceiling/floor type)
3) แบบตู้ตั้ง ( Package type)
4) แบบฝังเพดาน ( Built-in type)
5) แบบหน้าต่าง (Window type)
6) แบบเคลื่อนที่ ( Movable type)

รูปแบบการใช้งาน ข้อดี และข้อเสีย ของเครื่องปรับอากาศแต่ละประเภท
1) แบบติดผนัง ( Wall type) เป็นเครื่องปรับอากาศที่มีรูปแบบเล็กกะทัดรัด เหมาะสำหรับห้องที่มีพื้นที่น้อย เช่น ห้องนอน ห้องรับแขกขนาดเล็ก

ข้อดี:
• รูปแบบทันสมัย และมีให้เลือกหลากหลาย
• เงียบ • ติดตั้งง่าย

ข้อเสีย:
• ไม่เหมาะกับงานหนัก เนื่องจากคอยล์เย็นมีขนาดเล็กส่งผลให้คอยล์สกปรก และอุดตันง่ายกว่าคอยล์ที่มีขนาดใหญ่กว่า

2) แบบตั้ง/แขวน (Ceiling/floor type) เป็นเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสำหรับห้องที่มีพื้นที่ตั้งแต่เล็ก เช่น ห้องนอน ไปจนถึงห้องที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น สำนักงาน ร้านอาหาร ห้องประชุม

ข้อดี:
• สามารถเลือกการติดตั้งได้ทั้งตั้งพื้น หรือแขวนเพดาน
• สามารถใช้งานได้หลากหลาย เข้าได้กับทุกสถานที่
• การระบายลมดี

ข้อเสีย:
• ไม่มีรูปแบบให้เลือกมากนัก

3) แบบตู้ตั้ง ( Package type) เป็นเครื่องปรับอากาศ ที่มีลักษณะคล้ายตู้ มีขนาดสูง และมีกำลังลมที่แรง เหมาะกับบริเวณที่มีคนเข้าออกอยู่ตลอดเวลา เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร

ข้อดี:
• ติดตั้งง่าย โดยสามารถตั้งกับพื้นได้เลย ไม่ต้องทำการยึด
• ทำความเย็นได้เร็วเนื่องจากมีเส้นผ่านศูนย์กลางใบพัดลมที่ใหญ่ ซึ่งให้กำลังลมที่แรงกว่า

ข้อเสีย:
• เสียพื้นที่ใช้สอย

4) แบบฝังเพดาน ( Built-in type) เป็นเครื่องปรับอากาศที่เน้นความสวยงามโดยการซ่อน หรือฝังอยู่ใต้ฝ้าหรือเพดานห้อง เหมาะกับห้องที่ต้องการเน้นความสวยงาม โดยที่ต้องการให้เห็นเครื่องปรับอากาศน้อยที่สุด

ข้อดี:
• สวยงาม โดยสามารถทำตู้ซ่อน หรือ ฝังเรียบไว้บนเพดานห้อง

ข้อเสีย:
• ติดตั้งยาก เนื่องจากต้องทำการฝังเข้าตู้ หรือเพดานห้อง
• การดูแลรักษาทำได้ไม่ค่อยสะดวก

5) แบบหน้าต่าง ( Window type) เป็นเครื่องปรับอากาศที่รวมทั้ง คอนเดนซิ่ง ยูนิต และ แฟนคอยล์ ยูนิต อยู่ในเครื่องเดียว ซึ่งสามารถติดตั้งโดยการฝังที่กำแพงห้องได้เลย โดยที่ไม่ต้องเดินท่อน้ำยา ดังนั้นการติดตั้งจึงต้องติดตั้งบริเวณช่องหน้าต่างหรือเจาะช่องที่ผนังแข็งแรง

ข้อดี:
• ประหยัดพื้นที่เนื่องจากไม่ต้องใช้พื้นที่ติดตั้งคอนเดนซิ่ง ยูนิต
• ติดตั้งง่ายเพราะไม่ต้องเดินท่อน้ำยา
• ประสิทธิภาพในการทำความเย็นสูงกว่าแบบอื่นๆ เนื่องไม่มีการเดินท่อน้ำยา ทำให้ไม่มีความร้อนแทรกซึมตามท่อน้ำยา

ข้อเสีย:
• มีเสียงดังจากการทำงานของคอมเพรสเซอร์ และทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนของตัวเครื่องและผนัง
• ถ้าเครื่องมีขนาดขนาดใหญ่เกินไปจะมีปัญหาในการติดตั้ง เพราะบริเวณเพราะบริเวณช่องหน้าต่างไม่สามารถรับน้ำหนักมากได้

6) แบบเคลื่อนที่ ( Movable type) เป็นเครื่องปรับอากาศที่ไม่ต้องทำการติดตั้ง และสามารถเข็นไปใช้ได้ทุกพื้นที่ พูดง่ายๆก็คือสามารถเสียบปลั๊กใช้ได้เลย

ข้อดี:
• ขนาดกะทัดรัด
• ไม่ต้องติดตั้ง
• สามารถเข็นไปได้ใช้ได้ทุกพื้นที่ ทั้งในห้อง และกลางแจ้ง

ข้อเสีย:
• ใช้ได้กับห้องที่มีขนาดใหญ่ไม่มาก
• ประสิทธิภาพการทำความเย็นต่ำกว่า เนื่องจากเป็นระบบเปิดเมื่อนำไปใช้กลางแจ้ง

เครื่องปรับอากาศทำงานอย่างไร (Operation) ?

หลังจากที่เราได้ศึกษา ความรู้เบื้องต้น (Basics) และ ประเภทของระบบปรับอากาศ มาแล้ว ทาง “air-thai.com” จึงขออธิบายหลักการทำงานของเครื่องปรับอากาศที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในบ้านพักอาศัย และอาคารสำนักงานขนาดเล็ก ซึ่งก็คือ ระบบอากาศทั้งหมด (All-air system)

แต่ก่อนที่เราจะเรียนรู้กลไกการทำงานของเครื่องปรับอากาศ เราควรทราบก่อนว่าส่วนประกอบที่สำคัญของระบบการทำการความเย็น (Refrigeration Cycle) มีอะไรบ้าง

1) คอมเพรสเซอร์ (Compressor) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสารทำความเย็น หรือน้ำยา (Refrigerant) ในระบบ โดยทำให้สารทำความเย็นมีอุณหภูมิ และความดันสูงขึ้น

2) คอยล์ร้อน (Condenser) ทำหน้าที่ระบายความร้อนของสารทำความเย็น

3) คอยล์เย็น (Evaporator) ทำหน้าที่ดูดซับความร้อนภายในห้องมาสู่สารทำความเย็น

4) อุปกรณ์ลดความดัน (Throttling Device) ทำหน้าที่ลดความดันและอุณหภูมิของสารทำความเย็น โดยทั่วไปจะใช้เป็น แค็ปพิลลารี่ทิ้วบ์ (Capillary tube) หรือ เอ็กสแปนชั่นวาล์ว (Expansion Valve)
ระบบการทำความเย็นที่เรากำลังกล่าวถึงคือระบบอัดไอ (Vapor-Compression Cycle) ซึ่งมีหลักการทำงานง่ายๆคือ การทำให้สารทำความเย็น (น้ำยา) ไหลวนไปตามระบบ โดยผ่านส่วนประกอบหลักทั้ง 4 อย่างต่อเนื่องเป็น วัฏจักรการทำความเย็น (Refrigeration Cycle) โดยมีกระบวนการดังนี้


1) เริ่มต้นโดยคอมเพรสเซอร์ทำหน้าที่ดูดและอัดสารทำความเย็นเพื่อเพิ่มความดันและอุณหภูมิของน้ำยา แล้วส่งต่อเข้าคอยล์ร้อน

2) น้ำยาจะไหลวนผ่านแผงคอยล์ร้อนโดยมีพัดลมเป่าเพื่อช่วยระบายความร้อน ทำให้น้ำยาจะที่ออกจากคอยล์ร้อนมีอุณหภูมิลดลง (ความดันคงที่) จากนั้นจะถูกส่งต่อให้อุปกรณ์ลดความดัน

3) น้ำยาที่ไหลผ่านอุปกรณ์ลดความดันจะมีความดันและอุณหภูมิที่ต่ำมาก แล้วไหลเข้าสู่คอยล์เย็น (หรือที่นิยมเรียกกันว่า การฉีดน้ำยา)

4) จากนั้นน้ำยาจะไหลวนผ่านแผงคอยล์เย็นโดยมีพัดลมเป่าเพื่อช่วยดูดซับความร้อนจากภายในห้อง เพื่อทำให้อุณหภูมิห้องลดลง ซึ่งทำให้น้ำยาที่ออกจากคอยล์เย็นมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น (ความดันคงที่) จากนั้นจะถูกส่งกลับเข้าคอมเพรสเซอร์เพื่อทำการหมุนเวียนน้ำยาต่อไป

หลังจากที่เรารู้การทำงานของวัฏจักรการทำความเย็นแล้วก็พอจะสรุปง่ายๆได้ดังนี้

1) สารทำความเย็นหรือน้ำยา ทำหน้าที่เป็นตัวกลางดูดเอาความร้อนภายในห้อง (Indoor) ออกมานอกห้อง (Outdoor) จากนั้นน้ำยาจะถูกทำให้เย็นอีกครั้งแล้วส่งกลับเข้าห้องเพื่อดูดซับความร้อนอีก โดยกระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดการทำงานของคอมเพรสเซอร์

2) คอมเพรสเซอร์เป็นอุปกรณ์ชนิดเดียวในระบบที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนน้ำยาผ่านส่วนประกอบหลัก คือคอยล์ร้อน อุปกรณ์ลดความดัน และคอยล์เย็น โดยจะเริ่มทำงานเมื่ออุณหภูมิภายในห้องสูงเกินอุณหภูมิที่เราตั้งไว้ และจะหยุดทำงานเมื่ออุณหภูมิภายในห้องต่ำกว่าอุณหภูมิที่เราตั้งไว้ ดังนั้นคอมเพรสเซอร์จะเริ่ม และหยุดทำงานอยู่ตลอดเวลาเป็นระยะๆ เพื่อรักษาอุณหภูมิห้องให้สม่ำเสมอตามที่เราต้องการ

การเลือกซื้อแอร์มีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง ?

ข้อแนะนำต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่กำลังตัดสินใจซื้อเครื่องปรับอากาศได้ดีขึ้น

1. ควรเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่เชื่อถือได้ เพราะเครื่องปรับอากาศโนเนมส่วนใหญ่จะมีกำลังความเย็น ( BTU ) น้อยกว่าที่แสดงไว้บนฉลากหรือที่ภาษาช่างแอร์เรียกว่าไม่เต็มบีทียู เครื่องปรับอากาศจากผู้ผลิตโนเนมส่นใหญ่มีกำลังความเย็นเพียง 70 - 80 % ของที่โฆษณาไว้ นอกจากจะมีกำลังความเย็นไม่เต็มบีทียูแล้ว แอร์โนเนมยังมีเสียงดังแล้วยังเสียเร็วด้วย

2. ควรเลือกใช้เครื่องปรับอากาศ ที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 หรือเบอร์ 4 และได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เพราะได้รับการทดสอบความสามารถในการทำความเย็นแล้วซึ่งทำให้ท่านแน่ใจได้ว่าจะได้เครื่องปรับอากาศที่ประหยัดไฟฟ้าและมีประสิทธิภาพเต็มบีทียูนอกจากนี้ควรพิจารณาประกอบกับผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือด้วยเนื่องจากว่าอาจจะมีผู้ผลิตบางรายปลอมฉลากเบอร์ 5 ด้วย

3. เลือกใช้เครื่องปรับอากาศของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายที่มีบริการหลังการขายที่ดี ข้อนี้เป็นข้อที่มีความสำคัญมากและผู้ให้บริการนั้นจะต้องมีความชำนาญและได้มาตรฐาน

4. มีมาตรฐานรับรองเช่น มอก. CE JIS ISO เป็นต้น

5. มีมาตรฐานการให้บริการหลังการขายที่ดี

6. การเลือกเครื่องต้องเหมาะกับห้องปรับอากาศ เนื่องจากการใช้งานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 8 ปี และอากาศจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี

ข้อพิจารณาก่อนการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศ ( Criteria) มีอะไรบ้าง ?

การคำนวณขนาดทำความเย็น ( Cooling capacity หรือ BTU)ควรเลือกขนาดเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับห้องที่จะติดตั้ง เพื่อให้ได้ความเย็นที่เหมาะสม เพราะการซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีขนาดใหญ่เกินไปจะส่งผลให้ห้องมีความเย็นมากเกินไปทำให้เครื่องต้องเดิน-หยุดบ่อย นอกจากนี้ราคาเครื่องและ ค่าติดตั้งก็จะสูงตามไปด้วย ในทางกลับกัน ถ้าซื้อเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กเกินไป การทำความเย็นก็ไม่เพียงพอ และเครื่องก็ต้องทำงานตลอดเวลา ทำให้เครื่องมีอายุการใช้งานสั้นลง ดังนั้นควรเลือกเครื่องปรับอากาศที่มีความสามารถในการทำความเย็นให้เหมาะสมกับพื้นที่ห้อง

ลักษณะการใช้งาน เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก โดยดูประเภทของห้องว่าเป็นห้องนอน ห้องรับแขก ห้องทำงาน ร้านอาหาร ร้านค้า โรงแรม โรงพยาบาล ฯลฯ

รูปแบบ (ตั้ง-แขวน , ติดผนัง , ตู้ตั้ง , ฝังเพดาน) เลือกรูปแบบของเครื่องปรับอากาศ โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่จะทำการติดตั้ง และความสะดวกในการดูแลรักษา ( Maintenance)

วัตถุดิบที่ใช้ ( Material) เนื่องจากคุณภาพของวัตถุดิบ มีผลต่อโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน และความคงทนของเครื่องปรับอากาศ อีกทั้งในปัจจุบันมีเครื่องปรับอากาศให้เลือกมากมายหลายยี่ห้อ จึงไม่เป็นการง่ายที่จะตัดสินใจซื้อได้ทันที ดังนั้นเราจึงควรศึกษาส่วนประกอบที่สำคัญ เพื่อช่วยในการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศ


คอมเพรสเซอร์ ( Compressor) ที่นิยมใช้กันอยู่ 3 ประเภทคือ

คอมเพรสเซอร์โรตารี่ ( Rotary compressor) ทำงานโดยการหมุนของใบพัดความเร็วสูง โดยมีคุณสมบัติคือ การสั่นสะเทือนน้อย เดินเงียบ และมีประสิทธิภาพพลังงานสูง ( EER) เหมาะกับ เครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก

คอมเพรสเซอร์ลูกสูบ ( Reciprocating compressor) ทำงานโดยการใช้กระบอกสูบในการอัดน้ำยา โดยมีคุณสมบัติคือ ให้กำลังสูง แต่มีการสั่นสะเทือนสูง และมีเสียงดัง เหมาะกับเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่

คอมเพรสเซอร์แบบสโกรว ( Scroll compressor) พัฒนามาจากคอมเพรสเซอร์โรตารี่ ทำงานโดยใบพัดรูปก้นหอย โดยมีคุณสมบัติคือ มีการสั่นสะเทือนน้อย เดินเงียบ และมีประสิทธิภาพพลังงานสูงกว่าคอมเพรสเซอร์แบบอื่นๆในระดับเดียวกัน

คอยล์ ( Coil) ประกอบด้วยท่อทองแดง และครีบอะลูมิเนียม ( Fin) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการระบายและดูดซับความร้อน จากอากาศ ดังนั้น ผู้ซื้อจึงควรพิจารณาถึงวัตถุดิบที่ใช้ทำคอยล์ เช่นความหนาของครีบ หรือการเคลือบสารป้องกันการกัดกร่อน เนื่องจากคอยล์ที่มีสภาพดีย่อมระบายความร้อนได้ดี
ดังนั้นคอยล์ที่ทนทานจึงสามารถยืดอายุการใช้งานเครื่องปรับอากาศ แถมยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย

มอเตอร์พัดลม ( Fan motor) เป็นส่วนประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการช่วยระบาย และดูดซับความร้อน มอเตอร์ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศมีอยู่หลายเกรด ดังนั้นผู้ซื้อจึงควรสอบถามข้อมูลของมอเตอร์เพื่อประกอบการตัดสินใจ มอเตอร์ที่ดีควรใช้ขดลวดที่ทนความร้อนได้สูง จึงจะทำให้มอเตอร์ทำงานได้อย่างต่อเนื่องโดยที่รอบ ( rpm) ไม่ตกซึ่งมีผลต่อการระบายความร้อน และไม่เสียง่ายเนื่องจากความร้อนสูง

ระบบฟอกอากาศ ( Air Purifier) ในปัจจุบันผู้ผลิตนิยมติดตั้งระบบฟอกอากาศไว้ในเครื่องปรับอากาศ เพื่อช่วยทำให้อากาศภายในห้องมีความสะอาดบริสุทธิ์ มากขึ้น ซึ่งระบบฟอกอากาศที่ติดตั้งมาพร้อมเครื่องปรับอากาศมีอยู่ด้วยกันหลายระบบดังนี้

• การกรอง ( Filtration) เป็นการใช้แผ่นกรองอากาศในการดักจับฝุ่นละออง หรืออนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่าช่องว่างระหว่างเส้นใย โดยที่สิ่งสกปรกจะติดค้างอยู่ที่ไส้กรอง และต้องทำการเปลี่ยนเมื่อหมดอายุการใช้งาน ตัวอย่างของระบบนี้ก็คือ HEPA (High Efficiency Particulate Air) ซึ่งเป็นการกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดอนุภาคขนาดเล็กถึง 0.05 ไมครอน ในกรณีที่ต้องการกำจัดกลิ่นในอากาศ จะนิยมใช้แผ่นคาร์บอน ( Activated carbon filters) เพื่อดูดซับกลิ่นเช่น กลิ่นควันบุหรี่ กลิ่นอาหารเป็นต้น
• การดักจับด้วยไฟฟ้าสถิต ( Electrostatic Precipitator) เป็นการใช้ตะแกรงไฟฟ้า ( Electric grids) ในการดักจับฝุ่นละออง หรืออนุภาค โดยการเพิ่มประจุไฟฟ้าให้กับอนุภาคฝุ่นละออง และใช้แผ่นโลหะอีกชุดหนึ่งซึ่งเรียงขนานกันดูดอนุภาคฝุ่นละอองไว้ โดยที่หลังจากใช้งานไประยะหนึ่งต้องหยุดเครื่องเพื่อทำความสะอาดแผ่นโลหะ
• การปล่อยประจุไฟฟ้า ( Ionizer) เป็นการใช้เครื่องผลิตประจุไฟฟ้า และปล่อยออกมาพร้อมกับลมเย็นเพื่อดูดจับอนุภาคฝุ่นละออง และกลิ่น โดยประจุลบที่ปล่อยออกมาจะทำการดูดจับอนุภาคฝุ่นละอองและกลิ่น ซึ่งมีโครงสร้างเป็นประจุบวก จนกระทั่งกลุ่มอนุภาคเหล่านั้นรวมตัวกันจนมีขนาดใหญ่ขึ้น และตกลงสู่พื้นห้อง โดยกลุ่มอนุภาคเหล่านั้นจะถูกกำจัดไปพร้อมกับการทำความสะอาดพื้นห้องตามปกติ

ดังนั้นระบบนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีการทำความสะอาดเพราะไม่มีการดักจับโดยใช้แผ่นกรอง แต่เป็นการใช้ปฏิกิริยาทางเคมี

การประหยัดไฟฟ้า ( Energy Saving) ในปัจจุบันมีเครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด เพื่อตอบสนองนโยบายการประหยัดการพลังงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งเครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 จะมีประสิทธิภาพพลังงาน ( EER - Energy Efficiency Ratio) สูงกว่า และช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า แต่ข้อเสียคือมีราคาสูงกว่าเครื่องปรับอากาศธรรมดา ดังนั้นผู้ซื้อจึงควร เปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กับค่าไฟฟ้าในระยะยาวโดยขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายอย่าง เช่น ส่วนต่างราคา จำนวนปีที่จะใช้งาน จำนวนชั่วโมงที่จะใช้งานต่อวัน เป็นต้น

การเลือกตำแหน่งติดตั้งที่เหมาะสม (Installation) มีเทคนิคอย่างไร ?

แฟนคอยล์ ยูนิต
- ถ้าเป็นห้องนอนควรวางให้ลมจากเครื่องปรับอากาศเป่าด้านข้างลำตัวขณะนอนเสมอ เพราะถ้าให้ลมพัดจากศีรษะไปเท้า หรือเท้าไปศีรษะ จะส่งผลให้ไม่สบายได้ง่าย
- ไม่ควรวางเครื่องไว้เหนือเตียง เนื่องจากในการดูแลรักษา จะต้องมีการล้าง และปัดฝุ่นที่ฟิลเตอร์อยู่บ่อยๆ จะทำให้เตียงสกปรกง่าย ดังนั้นควรติดตั้งในบริเวณที่จะสามารถทำการซ่อม บริการได้สะดวก
- อย่าตั้งอุณหภูมิให้เย็นเกินไป เพราะเมื่อนอนหลับแล้ว เราจะไม่สามารถปรับอุณหภูมิได้อีก ทำให้ไม่สบายได้ง่ายเช่นกัน หรือหากทีรีโมทคอนโทรลก็ควรจัดให้อยู่ใกล้เตียง
- หากมีพื้นที่นั่งเล่นอยู่ในห้องนอน ก็ควรจัดให้ตำแหน่งเครื่องปรับอากาศส่งความเย็นไปหามากกว่าส่วนที่ใช้นอน เนื่องจากขณะนอนหลับเราต้องการอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ
- ควรวางแฟนคอยล์ยูนิตให้ใกล้ช่องเปิดหรือระเบียงที่มีคอนเดนซิ่งยูนิต วางอยู่ เพื่อความสะดวกในการติดตั้งและดูแลรักษาคอนเดนซิ่ง ยูนิต
- บริเวณที่สามารถระบายความร้อนได้สะดวก
- ควรเว้นระยะห่างจากกำแพงมาถึงด้านหลังเครื่องไม่น้อยกว่า 10 ซม. และเว้นระยะด้านหน้าเครื่องไม่น้อยกว่า 70 ซม.
- ไม่โดนฝนสาดได้ง่าย
- บริเวณไม่ถูกแสงแดดส่องโดยตรงตลอดเวลา
- บริเวณที่สามารถปล่อยให้เสียงและลมร้อนระบายออกมาได้โดยไม่รบกวนบริเวณข้างเคียง
- ตำแหน่งติดตั้งควรมีโครงสร้างแข็งแรงหรือใกล้คานหรือเสาเพื่อรับน้ำหนักตัวเครื่องได้ดี
- ตัวเครื่องควรยกระดับให้พ้นจากพื้นดินอย่างน้อย 10 เซนติเมตร หรือพ้นจากระดับที่น้ำท่วมถึง และในบริเวณที่สามารถซ่อมบำรุงได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการติดตั้งในบริเวณที่มีโอกาสติดไฟ เนื่องจากน้ำยาแอร์เป็นแก๊สชนิดหนึ่งที่สามารถติดไฟได้ง่ายถ้ารั่ว
- หลีกเลี่ยงการติดตั้งในบริเวณที่มีกรดซัลไฟด์ เช่นบริเวณท่อระบายน้ำทิ้ง เพราะสารทำความเย็นจะเกิดปฏิกิริยากับกรดซัลไฟด์ ทำให้เกิดแก๊สมีพิษต่อร่างกายเมื่อสูดดม
- ตำแหน่งที่ไม่กีดขวางทางเดิน